อาการบ้านหมุน

อาการเวียนหัวมึนงง หรือบางคนถึงขั้น บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เป็นอาการที่เกิดจากการเสียสมดุลของระบบทรงตัวของร่างกาย ที่มีอวัยวะรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะ ก้ม เงย เปลี่ยนท่าทาง วิ่งเดิน ขึ้น รถ ลงเรือ และทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อยู่ในหูชั้นใน

หูเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย  นอกจากจะเป็นที่ตั้งของอวัยวะรับเสียงเพื่อการได้ยินแล้วยังมีอวัยวะเพื่อการทรงตัวแนบชิดเป็นคู่แฝดอยู่ด้วย และมีประสาทต่อเนื่องไปสู่สมอง  หูจึงทำหน้าที่ทั้งการได้ยินและการทรงตัว บ่อยครั้งที่หูอื้อ พร้อมมีอาการเวียนศีรษะทรงตัวไม่อยู่ บ้านหมุน  คลื่นไส้อาเจียน  และถ้ามีหูดังมีเสียงรบกวนด้วยจะยิ่งทรมานมากขึ้น  ยิ่งกว่านั้น น้ำในหูชั้นในติดต่อกับน้ำในเยื่อหุ้มสมอง ดังนั้นอาการเวียนหัวหูอื้ออาจเป็นโรคของหูหรือโรคระบบประสาทและสมองก็ได้

การหาสาเหตุของโรค  และการให้การรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ เพราะนอกจากให้หายเวียนหัวแล้วยังต้องให้การได้ยินคืนดีด้วย และต้องหาสาเหตุโรคทางสมองด้วย อาการเวียนหัวเป็นได้ทั้งในผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และเด็ก เป็นเรื่องใกล้ตัว ที่อาจเป็นจากการเสียสมดุลของการทรงตัวที่ไม่ร้ายแรงไปจนถึงโรคทางสมองก็ได้ ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถ ตรวจหาสาเหตุได้แต่เนิ่นๆ เพื่อให้การรักษาและฟื้นฟูบำบัด ก่อนที่จะเสียสมรรถภาพ

สาเหตุของอาการเวียนหัว อาจเป็นจากหูเอง  หรือจากประสาทเกี่ยวข้อง  หรือโรคทางสมอง  หรืออาจมาจากโรคทางกายหลาย ๆ อย่างที่เป็นต้นเหตุก็ได้

1. โรคหูที่พบบ่อย ชาวบ้านชอบเรียกว่า น้ำในหูไม่เท่ากัน โดยเหมาๆ ไปว่า ใครที่เวียนหัวก็คือ น้ำในหูไม่เท่ากัน ซึ่งแท้จริงแล้ว โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's Disease) เป็นโรคหนึ่งในหลายๆโรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว โดยจะต้องมีอาการ 3 ประการประกอบกัน คือหูอื้อ หรือหูดับไปข้างหนึ่ง มีเสียงรบกวนในหู และเวียนศีรษะเกิดกระทันหัน และเป็นๆ หายๆ การรักษาต้องช่วยให้การได้ยินคืนดี เพื่อเสียงรบกวนในหูจะได้ทุเลาด้วย
2. โรคประสาททรงตัวอักเสบ ( Vestibular Neuronitis ) เวียนหัวกระทันหันโดนหูไม่อื้อ
3. โรคทางสมอง ตั้งแต่สมองขาดเลือด ไปจนถึงเนื้องอกในสมอง
4. โรคทางกายอื่นๆ เบาหวาน ความดันสูง หรือ ต่ำเกินไป โรคหัวใจ การไหลเวียนกระแสโลหิตไม่ดี ไขมันสูง
5. โรคฮอโมนบกพร่อง รวมทั้งโรคธัยรอยด์ สูงหรือต่ำไป
6. การเวียนหัวในผู้สูงอายุ อาจมีเหตุหลายอย่างรวมทั้งการเสื่อมของร่างกายและสมอง อาจต้องหาสาเหตุ โดย ละเอียด

การป้องกันอาการเวียนหัว  จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของธรรมชาติ ที่เราจะเวียนหัวเสียการทรงตัวบ้าง ในบางภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลีย อดนอนหรืออยู่ในภาวะที่ไม่เคยชิน เช่นอาการเมารถเมาเรือ การทรงตัวของเราต้องใช้งานตลอดเวลา และจะต้องได้สมดุลทั้งหูชั้นใน 2 ข้างรวมทั้ง สายตา กล้ามเนื้อแขนขาคอ และการไหลเวียนกระแสโลหิตไปสมอง ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องก็เกิดการเสียสมดุล และเวียนหัวได้ทั้งสิ้น  ถ้าอาการเวียนหัวเป็นบ่อยเป็นเรื้อรังไม่ยอมหาย ควรได้รับการตรวจค้นหาสาเหตุและรักษาให้ถูกต้องตามสาเหตุ
    
       ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสุจิตรา  ประสานสุข
       โรงพยาบาลกรุงเทพ  โทร.1719

กันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน

“กันไว้ดีกว่าแก้  ปล่อยให้แย่แล้วแก้ไม่ทัน”
การดูแลสุขภาพแนวใหม่ด้วยแนวคิดด้าน “เวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine)
เวชศาสตร์ชะลอวัย (Anti-Aging Medicine) และ Functional Medicine”

“สุขภาพของท่านจัดอยู่ในประเภทใด?”
  ก. สุขภาพดี...แต่ไม่รู้ว่าจะคงสภาพนี้อยู่นานเท่าไหร่   หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เพิ่มความมีชีวิตชีวา (Vitality) ไปนานๆ และเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเสียสมดุลอันนำมาสู่การเกิดโรคหรืออาการผิดปกติขึ้น หรือที่เรียกว่า การป้องกันแบบปฐมภูมิ-Primary Prevention)

 ข. ไม่ป่วยเป็นโรค แต่เริ่มมีอาการผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ ปวดโน่น ปวดนี่ นอนไม่ค่อยหลับ หลับไม่ลึก ตื่นบ่อย ตื่นมาไม่สดชื่น ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง เหนื่อยง่าย สมาธิไม่ดี ความจำแย่ลง เส้นผม ผิวพรรณไม่สดใส ท้องอืดท้องเฟ้อ ความรู้สึกทางเพศลดลง น้ำหนักเพิ่มง่าย แต่ลดยาก ฯลฯ อาจเคยไปตรวจเบื้องต้นแล้ว ผลทั่วไปก็ปกติ หรือผิดปกตินิดหน่อย ให้ดูอาการไปก่อน ยังไม่ต้องทำอะไร (...ถ้ามีการตรวจด้วยวิธีที่ละเอียด ทันสมัย สามารถทราบความผิดปกติภายในร่างกายแต่เนิ่นๆ  จะได้รีบเตรียมการป้องกัน ปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลสุขภาพเสียก่อนที่โรคร้ายจะถามหา ...อันนี้เรียกว่า การป้องกันแบบทุติยภูมิ-Secondary Prevention)

 ค. มีโรคประจำตัว รักษาอยู่ต่อเนื่อง แต่ไม่รู้ว่ามันจะทรุดลงไปอีกไหม ไม่รู้จะดีขึ้นเมื่อไหร่ (...ถ้ามีการดูแลรักษาอื่นเสริมที่อิงตามผลการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ทันสมัย (ไม่ใช่ลองผิดลองถูก) ควบคู่กับการรักษาแบบมาตรฐาน แล้วทำให้ช่วยให้ทราบสถานะของโรคที่เป็นอยู่ ผสมผสานกับแนวทางการดูแลตนเอง ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทำให้โรคที่เป็นอยู่ดีขึ้น ไม่ทรุดหนักซ้ำแล้วซ้ำอีก จนพิกลพิการ ก็น่าจะดีไม่น้อย...อันนี้เรียกว่า การป้องกันแบบตติยภูมิ-Tertiary Prevention)

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าท่านจะอยู่ในกลุ่มสุขภาพดี เริ่มป่วย หรือป่วยเป็นโรคแล้ว การ “ป้องกัน” ก็ยังมีบทบาทสำคัญมากกว่ารอให้เกิดความผิดปกติหรือเกิดโรคขึ้นแล้ว ต้องทนทุกข์ทรมาณ เสียทั้งเวลา เสียทั้งรายได้ เสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า ดีไม่ดีอาจต้องพิกลพิการไปตลอดชีวิต เพื่อที่จะเข้าใจแนวโน้มสถานะ

สุขภาพที่แท้จริง ก็ต้องตอบ อีก 2 คำถาม ในร่างกายคุณมีอะไร “ขาด”หรือ “เกิน” ?

1.“ภาวะขาด”  อะไรบ้าง ที่ร่างกายต้องการ แต่มีไม่พอ หรือได้รับเข้าสู่ร่างกายน้อยไป หลักๆ ก็ได้แก่ สารอาหารต่างๆ รวมทั้งวิตามิน เกลือแร่ และฮอร์โมน

2. “ภาวะเกิน” อะไรบ้าง ที่ร่างกายไม่ต้องการ หรือเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่เราได้รับเข้าไปและทำร้ายร่างกายเราอยู่ทุกวันๆ เช่น สารพิษ โลหะหนัก สารก่อภูมิแพ้ ทั้งจากสิ่งแวดล้อมและอาหารการกิน เป็นต้น
จะรู้ได้อย่างไรว่า “ขาด” หรือ “เกิน”  การตรวจวิเคราะห์ชนิดพิเศษ 
 การตรวจเลือด ปัสสาวะหรือการตรวจน้ำลายเพียงครั้งเดียว  สามารถบอกถึงภาวะความสมดุลของ
• ความสมดุลของสารอาหารสำคัญรวมถึงวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อการเผาผลาญและสร้างพลังงานในระดับเซลล์ (Nutritional tests)
• สารพิษตกค้างในร่างกาย เช่น โลหะหนักต่างๆ (Toxic elements/Heavy metals)
• ความสามารถตับในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย (Liver detoxification profile)
• ระดับของสารอนุมูลอิสระที่คอยทำร้ายร่างกายของเรา และเป็นสาเหตุสำคัญของความชรา และโรคเรื้อรังต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถบอกระดับของสารต้านอนุมูลอิสระที่คอยปกป้องร่างกายของเราอีกด้วย (Free radical and Ant-oxidant)
• ระดับของสารสื่อประสาทและฮอร์โมนต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานร่างกาย (Neurotransmitter & Hormone metabolites)
• ความสมดุลของแบคทีเรียในทางเดินอาหาร ชนิดที่เป็นประโยชน์ และชนิดที่เป็นโทษต่อร่างกาย (Bacterial dysbiosis markers)
• การตรวจอุจจาระ ที่สามารถบอกตั้งแต่ระบบการย่อยอาหาร การทำงานของเอนไซม์และน้ำย่อยต่างๆ การดูดซึมอาหาร ความสมดุลของแบคทีเรียชนิดที่เป็นประโยชน์และชนิดที่เกิดโทษต่อร่างกาย (Comprehensive Digestive Stool Analysis; CDSA)
• การตรวจสารพันธุกรรม (Gene testing) ที่สามารถทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน โอกาสแพ้ยาบางชนิด เพื่อเป็นแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ระมัดระวัง ดูแลสุขภาพ ก่อนที่จะเกิดความเจ็บป่วยขึ้น
รู้แล้ว จะแก้ไข ดูแลรักษาอย่างไร?
• การวิเคราห์หาสาเหตุของโรคและรักษาที่ต้นเหตุของการเกิดโรค (Root cause of the illness)
• “ขาด” ก็ “เติม-Replace and Restore normal function”
• “เกิน” ก็ “ตัดออก-Remove causes”
• ให้ความสำคัญกับเรื่องราวความเจ็บป่วยเฉียบพลัน ณ ขณะนั้น และความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะนั้นๆ (Disease-care) แต่ก็ไม่ละเลยที่จะพิจารณาระบบการทำงานอื่นๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้อง และให้ความสำคัญกับเรื่องราวอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องความเจ็บป่วยเฉียบพลันและความเจ็บป่วยเรื้อรัง (Patient-care)
• ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น (Promotion of organ function and reserve) มากกว่าการรักษาเพื่อกดการทำงานของอวัยวะ เพื่อควบคุมอาการ (“lock down” and control physiology) ซึ่งได้ผลดีในระยะสั้น แต่กลับไม่เป็นผลดีในระยะยาว
• ความเป็นปัจเจกบุคคล (Personalized Medicine): มองผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านพันธุกรรม (Genetic) ชีวเคมี   (Biochemical Individuality) ระบบการทำงานของร่างกายและวิถีชีวิต ซึ่งจะตอบสนองต่อการรักษาต่างกัน จึงเป็นที่มาของการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยยา และอาหารเสริมที่จำเพาะบุคคลจริงๆ (Customized Pharmacy and dietary supplement)
• การดูแลสุขภาพระยะยาวนั้น แพทย์เป็นเสมือนโค้ช ที่ช่วยวิเคราะห์หาส่วนขาด ส่วนเกินในร่างกายและวางแผนการดูแลผสมผสานและต่อเนื่อง ส่วนผู้ป่วยก็เป็นเสมือนนักกีฬา ที่ต้องมีส่วนร่วมในการปรับปรุงวิถีชีวิตเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และต่อเนื่อง (The patient becomes a partner)

ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัยกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719

ภูมิแพ้ แก้ได้ถ้าใส่ใจ

เคยมีอาการเหล่านี้บ้างไหม จาม คันจมูก ตา หู และคอ มีน้ำมูกใสๆ ไหลบ่อยๆ รู้สึกจมูกตัน ตาแดง และมีน้ำตาไหล นี่คืออาการของโรคภูมิแพ้

นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ปวดศรีษะ ปวดบริเวณคาง และหน้าผากได้อีกด้วย

ชนิดของโรคภูมิแพ้ แบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่
  1. โรคภูมิแพ้ชนิดที่เป็นตามฤดูกาล จะมีอาการขึ้นอยู่กับช่วงที่สารก่อภูมิแพ้ถูกผลิตออกมา เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ฟางข้าว เป็นต้น
  2. โรคภูมิแพ้ชนิดเป็นตลอดปี จะมีอาการตลอดทั้งปี เนื่องจากสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ตลอดเวลา ทำให้มีอาการแบบเรื้อรัง สารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้คนแพ้กันมาก คือ ไรฝุ่นในบ้าน เชื้อรา ขนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
การดูแลรักษาภูมิแพ้
  1. หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงสารที่ทราบว่าแพ้ เพื่อที่จะให้อาการเกิดน้อยลง และใช้ยาน้อยลง
  • ควรมีสิ่งของเครื่องเรือนให้น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็นเท่านั้น จัดบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง ไม่ควรใช้พรมและผ้าม่าน เพราะเป็นแหล่งสะสมฝุ่น
  • ทำความสะอาดห้องนอนด้วยผ้าชุบน้ำเปียกๆ ไม่ควรกวาด ถ้าใช้เครื่องดูดฝุ่น ตัวผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไม่ควรทำเอง
  • เครื่องนอนทั้งหมดควรเป็นใยสังเคาระห์ ยาง หรือฟองน้ำ ควรหุ้มด้วยพลาสติก หรือผ้าร่มอีกชั้น ควรนำเครื่องนอนออกตากแดดจัดๆ สัปดาห์ละครั้ง เพื่อฆ่าตัวไร ซักผ้าปูที่นอน เครื่องนอน และผ้าม่าน อย่างสม่ำเสมอ ผ้าห่มไม่ควรใช้ประเภทขนสัตว์ ควรใช้ผ้าห่มที่ทำจากใยสังเคราะห์
  • พื้นห้อง ควรเป็นพื้นขัดมัน เพราะกำจัดฝุ่นได้ง่าย
  • เครื่องปรับอากาศ ควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ หรือเลือกใช้รุ่นที่มีระบบกรองอากาศ
  • พัดลม ไม่ควรเปิดแรง หรือเป่าตรงตัวผู้ป่วย ไม่ควรเป่าลงพื้น เพราะทำให้ฝุ่นเข้าจมูก อาการภูมิแพ้จะกำเริบได้ง่าย
  • ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน อาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงสัปดาห์ละครั้ง จะช่วยลดสารภูมิแพ้ลงได้ หรือเลี้ยงนอกบ้าน และห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสัตว์เลี้ยง และพยายามให้อยู่ห่างจากใบหน้าผู้ป่วย
  • ไม่ควรปลูกต้นไม้ในบ้าน กระถางดอกไม้ที่อับชื้นจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อราได้
  • ทำความสะอาดฝักบัวในห้องน้ำ อ่างน้ำ ม่านห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอ
  • กำจัดแมลงภายในบ้าน โดยเฉพาะแมลงสาบ เพราะซากและอุจจาระของแมลงสาบเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ
    2.  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

    3.  การรักษาด้วยยา ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีน มี 2 กลุ่ม
  • ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มเก่า มีข้อควรระวัง คือ ทำให้ง่วงซึม และมีอาการข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ใจสั่น
  • ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มใหม่ มีข้อดี คือ ไม่ง่วง อาการข้างเคียงน้อยลง ออกฤทธิ์ได้นานกว่า ไม่ต้องกินยาบ่อย
   4.  การฉีดยารักษาภูมิแพ้ เป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายผู้ป่วยทีละน้อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องใช้เวลานานจึงเห็นผล (ประมาณ 3 - 5 ปี) และต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้รักษาเท่านั้น

ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719

โภชนาการกับโรคมะเร็ง

มะเร็ง เป็นโรคร้ายติดอันดับ ที่คร่าชีวิตประชากรโลกอย่างมากมาย ซึ่งมะเร็งบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบในระยะเริ่มแรก สำหรับการเกิดโรคมะเร็งนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ

ทั้งจากภายในร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม

จากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารเคมี รังสี ไวรัส พยาธิบางชนิด ตลอดจนความไม่สมดุลทางภาวะโภชนาการ

จากการศึกษาพบว่า  อาหารมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งได้ประมาณ 30 - 50% แต่ในขณะเดียวกัน อาหารบางประเภทก็มีคุณสมบัติในการป้องกันมะเร็งได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ จึงเป็นทางหนึ่งที่สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้

อาหารที่มีคุณสมบัติป้องกันมะเร็ง
  • อาหารที่มีกากมาก ได้แก่ ผัก ผลไม้ ข้าว ข้าวโพด และเมล็ดธัญญพืชต่างๆ
  • อาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูง ได้แก่ ผัก ผลไม้ที่มีสีเหลืองสด หรือ สีส้ม เช้น ฟักทอง มะละกอ มะม่วงสุก แตงโม แครอท และผักสีเขียวเข้ม เช่น ตำลึง คะน้า บร็อกโคลี่ และผักขม เป็นต้น
  • อาหารที่มีไวตามินซีสูง ได้แก่ ผักสด และผลไม้ เช่น ฝรั่ง ส้ม ขนุน และมะละกอสุก
  • ผักตระกูลกระหล่ำ ได้แก่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า และบร็อกโคลี่
  • เครื่องเทศต่างๆ ได้แก่ กระเทียม ขมิ้น

อาหารที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
  • อาหารที่มีราขึ้น โดยเฉพาะราสีเขียว สีเหลือง
  • อาหารไขมันสูง
  • อาหารเค็มจัด และอาหารที่ถนอมด้วยเกลือดินประสิว
  • ส่วนไหม้เกรียมของเนื้อสัตว์ ปิ้ง ย่าง ทอด รมควัน
  • อาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดดิบๆ เช่น ปลาขาว ปลาตะเพียน
ข้อแนะนำเพื่อป้องกันมะเร็ง
  • ไม่สูบบุหรี่
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • เลือกอาหารที่มีพืชหลากหลายชนิด เป็นองค์ประกอบหลัก
  • จำกัดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่มีสีแดง
  • เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ
  • จำกัดอาหารเค็ม
  • ไม่กินอาหารที่ไหม้เกรียมบ่อยๆ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดูแลน้ำหนักตัวอย่าให้อ้วน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ตรวจเช็กสุขภาพสม่ำเสมอ
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ