ภูมิแพ้ แก้ได้ถ้าใส่ใจ

เคยมีอาการเหล่านี้บ้างไหม จาม คันจมูก ตา หู และคอ มีน้ำมูกใสๆ ไหลบ่อยๆ รู้สึกจมูกตัน ตาแดง และมีน้ำตาไหล นี่คืออาการของโรคภูมิแพ้

นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ปวดศรีษะ ปวดบริเวณคาง และหน้าผากได้อีกด้วย

ชนิดของโรคภูมิแพ้ แบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่
  1. โรคภูมิแพ้ชนิดที่เป็นตามฤดูกาล จะมีอาการขึ้นอยู่กับช่วงที่สารก่อภูมิแพ้ถูกผลิตออกมา เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ฟางข้าว เป็นต้น
  2. โรคภูมิแพ้ชนิดเป็นตลอดปี จะมีอาการตลอดทั้งปี เนื่องจากสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ตลอดเวลา ทำให้มีอาการแบบเรื้อรัง สารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้คนแพ้กันมาก คือ ไรฝุ่นในบ้าน เชื้อรา ขนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
การดูแลรักษาภูมิแพ้
  1. หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยควรพยายามหลีกเลี่ยงสารที่ทราบว่าแพ้ เพื่อที่จะให้อาการเกิดน้อยลง และใช้ยาน้อยลง
  • ควรมีสิ่งของเครื่องเรือนให้น้อยที่สุด เท่าที่จำเป็นเท่านั้น จัดบ้านให้อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง ไม่ควรใช้พรมและผ้าม่าน เพราะเป็นแหล่งสะสมฝุ่น
  • ทำความสะอาดห้องนอนด้วยผ้าชุบน้ำเปียกๆ ไม่ควรกวาด ถ้าใช้เครื่องดูดฝุ่น ตัวผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ไม่ควรทำเอง
  • เครื่องนอนทั้งหมดควรเป็นใยสังเคาระห์ ยาง หรือฟองน้ำ ควรหุ้มด้วยพลาสติก หรือผ้าร่มอีกชั้น ควรนำเครื่องนอนออกตากแดดจัดๆ สัปดาห์ละครั้ง เพื่อฆ่าตัวไร ซักผ้าปูที่นอน เครื่องนอน และผ้าม่าน อย่างสม่ำเสมอ ผ้าห่มไม่ควรใช้ประเภทขนสัตว์ ควรใช้ผ้าห่มที่ทำจากใยสังเคราะห์
  • พื้นห้อง ควรเป็นพื้นขัดมัน เพราะกำจัดฝุ่นได้ง่าย
  • เครื่องปรับอากาศ ควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ หรือเลือกใช้รุ่นที่มีระบบกรองอากาศ
  • พัดลม ไม่ควรเปิดแรง หรือเป่าตรงตัวผู้ป่วย ไม่ควรเป่าลงพื้น เพราะทำให้ฝุ่นเข้าจมูก อาการภูมิแพ้จะกำเริบได้ง่าย
  • ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน อาบน้ำให้สัตว์เลี้ยงสัปดาห์ละครั้ง จะช่วยลดสารภูมิแพ้ลงได้ หรือเลี้ยงนอกบ้าน และห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสัตว์เลี้ยง และพยายามให้อยู่ห่างจากใบหน้าผู้ป่วย
  • ไม่ควรปลูกต้นไม้ในบ้าน กระถางดอกไม้ที่อับชื้นจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อราได้
  • ทำความสะอาดฝักบัวในห้องน้ำ อ่างน้ำ ม่านห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอ
  • กำจัดแมลงภายในบ้าน โดยเฉพาะแมลงสาบ เพราะซากและอุจจาระของแมลงสาบเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ
    2.  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง

    3.  การรักษาด้วยยา ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีน มี 2 กลุ่ม
  • ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มเก่า มีข้อควรระวัง คือ ทำให้ง่วงซึม และมีอาการข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ใจสั่น
  • ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มใหม่ มีข้อดี คือ ไม่ง่วง อาการข้างเคียงน้อยลง ออกฤทธิ์ได้นานกว่า ไม่ต้องกินยาบ่อย
   4.  การฉีดยารักษาภูมิแพ้ เป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายผู้ป่วยทีละน้อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องใช้เวลานานจึงเห็นผล (ประมาณ 3 - 5 ปี) และต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้รักษาเท่านั้น

ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น